วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์



ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ 
 

  • ทฤษฎีพัฒนาการของ Piaget ( Cognitive Development Theory )  
              ฌอง เพียเจต์ นักจิตวิทยาชาวสวิส จบปริญญาเอกทางชีววิทยา แต่หันมาสนใจทางจิตวิทยา ประสบการณ์จากการเลี้ยงลูก 3 คน โดยเฝ้าสังเกตและบันทึกพฤติกรรมของลูกๆเกี่ยวกับกิจกรรมที่ลูกทำได้หรือทำ ไม่ได้ ตามลำดับช่วงอายุ จึงสรุปเป็นทฤษฎีพัฒนาการทางปัญญา
               เพียเจต์ (Piaget) ได้ศึกษาเกี่ยวกับ พัฒนาการทางด้านความคิดของเด็กว่ามีขั้นตอนหรือกระบวนการ อย่างไร ทฤษฎีของเพียเจต์ตั้งอยู่บนรากฐานของทั้งองค์ประกอบที่เป็นพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม เขาอธิบายว่า การเรียนรู้ของเด็กเป็นไปตามพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งจะมีพัฒนาการไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น พัฒนาการเป็นสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ควรที่จะเร่งเด็กให้ข้ามจากพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่ง เพราะจะทำให้เกิดผลเสียแก่เด็ก แต่การจัดประสบการณ์ส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงที่เด็กกำลังจะพัฒนาไปสู่ ขั้นที่สูงกว่า สามารถช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม เพียเจต์เน้นความสำคัญของการเข้าใจธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กมากกว่าการ กระตุ้นเด็กให้มีพัฒนาการเร็วขึ้น เพียเจต์สรุปว่า พัฒนาการของเด็กสามารถอธิบายได้โดยลำดับระยะพัฒนาทางชีววิทยาที่คงที่ แสดงให้ปรากฏโดยปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสิ่งแวดล้อม 
  • หลักพัฒนาการตามแนวคิดทฤษฎีนั้นเป็นอย่างไร 
       เพียเจต์ ให้ชื่อการพัฒนาการของเด็กวัยรุ่นหรือวัยมัธยมศึกษาว่า Formal Operation สามารถคิดได้แบบผู้ใหญ่ คือ
       -      คิดในสิ่งที่เป็นนามธรรมได้          
       -      มีความสนใจในปรัชญาชีวิต ศาสนา อาชีพ
       -      สามารถใช้เหตุผลเป็นหลักในการตัดสินใจ
       -      สามารถคิดเหตุผลได้ทั้งอนุมานและอุปมาน
       -      มีหลักการในการให้เหตุผลของตนเอง เกี่ยวกับความยุติธรรม เสมอภาคและมีมนุษยธรรม

  • ทฤษฎีการเรียนรู้ 
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ มีสาระสรุปได้ดังนี้  
                     พัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลเป็นไปตามวัยต่าง ๆ เป็นลำดับขั้น ดังนี้


1.   ขั้นประสาทรับรู้และการเคลื่อนไหว (Sensori-Motor Stage)  เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปี พฤติกรรมของเด็กในวัยนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวเป็นส่วนใหญ่
2.   ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (Preoperational Stage)  เริ่มตั้งแต่อายุ 2-7 ปี แบ่งออกเป็นขั้นย่อยอีก 2 ขั้น คือ
- ขั้นก่อนเกิดสังกัป (Preconceptual Thought) เป็นขั้นพัฒนาการของเด็กอายุ 2-4 ปี เป็นช่วงที่เด็กเริ่มมีเหตุผลเบื้องต้น สามารถจะโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์2เหตุการณ์ หรือมากกว่ามาเป็นเหตุผล เกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน แต่เหตุผลของเด็กวัยนี้ยังมีขอบเขตจำกัดอยู่
 - ขั้นการคิดแบบญาณหยั่งรู้ นึกออกเองโดยไม่ใช้เหตุผล (Intuitive Thought) เป็นขั้นพัฒนาการของเด็ก อายุ 4-7 ปี ขั้นนี้เด็กจะเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ รวมตัวดีขึ้น รู้จักแยกประเภทและแยกชิ้นส่วนของ
3.   ขั้นปฏิบัติการคิดด้านรูปธรรม (Concrete Operation Stage)  เริ่มจากอายุ 7-11 ปี พัฒนาการทางด้านสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้สามารถสร้างกฎเกณฑ์และตั้งเกณฑ์ในการแบ่งสิ่งแวดล้อมออกเป็นหมวดหมู่ได้
4.   ขั้นปฏิบัติการคิดด้วยนามธรรม (Formal Operational Stage)   เริ่มจากอายุ 11-15 ปี ในขั้นนี้พัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดของเด็กวัยนี้เป็นขั้นสุดยอด คือเด็กในวัยนี้จะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ ความคิดแบบเด็กจะสิ้นสุดลง เด็กจะสามารถที่จะคิดหาเหตุผลนอกเหนือไปจากข้อมูลที่มีอยู่
              พัฒนาการทางการรู้คิดของเด็กในช่วงอายุ 6 ปีแรกของชีวิต ซึ่งเพียเจต์ ได้ศึกษาไว้เป็นประสบการณ์สำคัญที่เด็กควรได้รับการส่งเสริม มี 6 ขั้น ได้แก่  
1. ขั้นความรู้แตกต่าง (Absolute Differences) เด็กเริ่มรับรู้ในความแตกต่างของสิ่งของที่มองเห็น  
2. ขั้นรู้สิ่งตรงกันข้าม (Opposition) ขั้นนี้เด็กรู้ว่าของต่างๆ มีลักษณะตรงกันข้ามเป็น 2 ด้าน เช่น มี-ไม่มี หรือ เล็ก-ใหญ่  
3. ขั้นรู้หลายระดับ (Discrete Degree) เด็กเริ่มรู้จักคิดสิ่งที่เกี่ยวกับลักษณะที่อยู่ตรงกลางระหว่างปลายสุดสอง ปลาย เช่น ปานกลาง น้อย  
4. ขั้นความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง (Variation) เด็กสามารถเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เช่น บอกถึงความเจริญเติบโตของต้นไม้  
5. ขั้นรู้ผลของการกระทำ (Function) ในขั้นนี้เด็กจะเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลง  
6. ขั้นการทดแทนอย่างลงตัว (Exact Compensation) เด็กจะรู้ว่าการกระทำให้ของสิ่งหนึ่งเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลต่ออีกสิ่งหนึ่งอย่างทัดเทียมกัน
                     กระบวนการทางสติปัญญามีลักษณะดังนี้ 
1. การซึมซับหรือการดูดซึม (assimilation) เป็นกระบวนการทางสมองในการรับประสบการณ์ เรื่องราว และข้อมูลต่าง ๆ เข้ามาสะสมเก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป
2. การปรับและจัดระบบ (accommodation) คือ กระบวนการทางสมองในการปรับประสบการณ์เดิมและประสบการณ์ใหม่ให้เข้ากันเป็น ระบบหรือเครือข่ายทางปัญญาที่ตนสามารถเข้าใจได้ เกิดเป็นโครงสร้างทางปัญญาใหม่ขึ้น
3. การเกิดความสมดุล (equilibration) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากขั้นของการปรับ หากการปรับเป็นไปอย่างผสมผสานกลมกลืนก็จะก่อให้เกิดสภาพที่มีความสมดุลขึ้น หากบุคคลไม่สามารถปรับประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เดิมให้เข้ากันได้ ก็จะเกิดภาวะความไม่สมดุลขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางปัญญาขึ้นในตัวบุคคล

  • การนำไปใช้ในการจัดการศึกษา / การสอน 
เมื่อทำงานกับนักเรียน ผู้สอนควรคำนึงถึงพัฒนาการทางสติปํญญาของนักเรียนดังต่อไปนี้
  • นักเรียนที่มีอายุเท่ากันอาจมีขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่ควรเปรียบเทียบเด็ก ควรให้เด็กมีอิสระที่จะเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของเขาไปตามระดับพัฒนาการของเขา นักเรียนแต่ละคนจะได้รับประสบการณ์ 2 แบบคือ     - ประสบการณ์ทางกายภาพ (physical experiences) จะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนแต่ละคนได้ปฏิสัมพันธ์กับวัตถุต่าง ในสภาพแวดล้อมโดยตรง
    - ประสบการณ์ทางตรรกศาสตร์ (Logicomathematical experiences) จะเกิดขึ้นเมื่อนักเรียนได้พัฒนาโครงสร้างทางสติปัญญาให้ความคิดรวบยอดที่ เป็นนามธรรม
  • หลักสูตรที่สร้างขึ้นบนพื้นฐานทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ
    - เน้นพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนโดยต้องเน้นให้นักเรียนใช้ศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด
    - เสนอการเรียนการเสนอที่ให้ผู้เรียนพบกับความแปลกใหม่
    - เน้นการเรียนรู้ต้องอาศัยกิจกรรมการค้นพบ
    - เน้นกิจกรรมการสำรวจและการเพิ่มขยายความคิดในระหว่างการเรียนการสอน
    - ใช้กิจกรรมขัดแย้ง (cognitive conflict activities) โดยการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นนอกเหนือจากความคิดเห็นของตนเอง
  • การสอนที่ส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนควรดำเนินการดังต่อไปนี้
    - ถามคำถามมากกว่าการให้คำตอบ
    - ครูผู้สอนควรจะพูดให้น้อยลง และฟังให้มากขึ้น
    - ควรให้เสรีภาพแก่นักเรียนที่จะเลือกเรียนกิจกรรมต่าง ๆ
    - เมื่อนักเรียนให้เหตุผลผิด ควรถามคำถามหรือจัดประสบการณ์ให้นักเรียนใหม่ เพื่อนักเรียนจะได้แก้ไขข้อผิดพลาดด้วยตนเอง
    - ชี้ระดับพัฒนาการทางสติปัญญาของนักเรียนจากงานพัฒนาการทางสติปัญญาขั้นนามธรรมหรือจากงานการอนุรักษ์ เพื่อดูว่านักเรียนคิดอย่างไร
    - ยอมรับความจริงที่ว่า นักเรียนแต่ละคนมีอัตราพัฒนาการทางสติปัญญาที่แตกต่างกัน
    - ผู้สอนต้องเข้าใจว่านักเรียนมีความสามารถเพิ่มขึ้นในระดับความคิดขั้นต่อไป
    - ตระหนักว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเพราะจดจำมากกว่าที่จะเข้าใจ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่แท้จริง (pseudo learning)
  • ในขั้นประเมินผล ควรดำเนินการสอนต่อไปนี้
    - มีการทดสอบแบบการให้เหตุผลของนักเรียน
    - พยายามให้นักเรียนแสดงเหตุผลในการตอนคำถามนั้น ๆ
    - ต้องช่วยเหลือนักเรียนทีมีพัฒนาการทางสติปัญญาต่ำกว่าเพื่อร่วมชั้น
  • ในการจัดการเรียนรู้ให้วัยรุ่นควรจัดให้รู้จัดคิด ตัดสินใจ แก้ปัญหา เช่น การแก้ปัญหาโดยใช้หลักการวิทยาศาสตร์ การสอนแบใช้ความคิดรวบยอด
 

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ 
 
             ปัญหาของ Cl เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง id กับ ego หรือ id กับ super-ego และEgo กับ super-ego ถ้าความขัดแย้งส่งผลกระทบทำให้ ego อ่อนแอ เมื่อนั้น Cl ต้องได้รับการบำบัดและพัฒนาการที่ติดขัดในแต่ละขั้นตอน จะทำให้เกิดความชะงักงัน ( Fixation ) ส่งผลต่อบุคลิกภาพบางอย่างของบุคคลได้
            หลักการของทฤษฎี 

             1.ทฤษฎีบุคลิกภาพ
             ฟรอยด์กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์มีสาระสำคัญดังนี้
     * บุคลิกภาพของบุคคลเกิดจากแรงกระตุ้นของสัญชาตญาณทางด้านชีววิทยา เช่น ความหิว ความกลัวตาย
     * แรงกระตุ้นต่างๆจะนำไปสู่การลดความเครียดทางด้านร่างกาย บางครั้งจะขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมและขอบเขตของศีลธรรมเช่นความต้องการทางเพศ
     * ความเจริญเติบโตทางด้านจิตใจเกิดจากการที่บุคคลสามารถจัดการกับแรงกระตุ้นต่างๆได้เหมาะสมหรือไม่
     * ความเจริญเติบโตทางด้านจิตใจต้องผ่านไปตามลำดับขั้นของพัฒนาการตั้งแต่วัยเด็ก
     * พฤติกรรมของมนุษย์ถูกกำหนดขึ้นมาจากจิตไร้สำนึกและจิตสำนึก ทุกพฤติกรรมเกิดเพราะมีสาเหตุทั้งสิ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างอิสระเสรี
 *ระหว่างจิตไร้สำนึกและจิตสำนึกนั้น จิตไร้สำนึกจะมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมมากกว่าจิตสำนึก
     * ทฤษฎีของฟรอยด์โดดเด่นในแง่ของจิตไร้สำนึกมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจยากในหลายๆกรณี ฟรอยด์กล่าวว่าปัญหาความขัดแย้งของบุคคลเกิดจากจิตไร้สำนึกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและความรู้สึกของคนไข้ ความขัดแย้งเหล่านี้ไม่เหมือนกับความขัดแย้งในระดับจิตสำนึก เพราะแก้ไขได้ยาก เนื่องจากมีรากฐานมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก และจากแรงขับ ความปรารถนา ความรู้สึกต่างๆที่ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริง หรือมโนธรรม ซึ่งถ้าความปรารถนาเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับในระดับจิตสำนึก จะทำให้เกิดความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด ทำให้เกิดการใช้กลไกป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism )
              2.โครงสร้างบุคลิกภาพ
              ฟรอยด์ได้แบ่งจิตใจมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ คือ
จิตไร้สำนึก( Unconscious ) จิตกึ่งรู้สำนึก ( Preconscious ) และจิตรู้สำนึก ( Conscious ) โดยจิตรู้สำนึกเปรียบเหมือนก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ มองเห็นได้ สัมผัสได้ เข้าใจง่าย จิตไร้สำนึกเปรียบเหมือนส่วนของน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำ มองไม่เห็น เข้าใจยาก แต่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มากที่สุด ส่วนจิตกึ่งรู้สำนึกจะอยู่ระหว่างกึ่งกลางของจิตสองส่วนนี้
     * จิตไร้สำนึก เป็นที่เก็บความคิดและความรู้สึกที่ถูกเก็บกดทั้งหลาย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้บางครั้งถูกส่งออกมายังจิตสำนึก โดยต้องผ่านการตรวจสอบของจิตกึ่งรู้สำนึกก่อน จิตไร้สำนึกจะเป็นส่วนของสัญชาตญาณทั้งหลาย ความพึงพอใจ ความปรารถนาต่างๆ โดยมันไม่สนใจเรื่องของเวลา เหตุผลหรือความขัดแย้ง ฟรอยด์บอกว่าถ้าความปรารถนาในจิตใต้สำนึกไม่บรรลุผล จะทำให้เกิดการฝันหรืออาการทางโรคประสาทได้
     * จิตกึ่งรู้สำนึก เป็นส่วนที่คอยทำงานเชื่อมประสานระหว่างจิตไร้สำนึกและจิตรู้สำนึก มันทำหน้าที่ในการตรวจสอบสิ่งที่จิตไร้สำนึกส่งมาให้กับจิตสำนึก และมันยังทำหน้าที่คอยเก็บกดความปรารถนาและความต้องการที่ไม่อาจแสดงออกมาได้ลงไปไว้ในจิตไร้สำนึก หากเราทำการกระตุ้นจิตกึ่งรู้สำนึก จะทำให้สิ่งต่างๆในจิตไร้สำนึกออกมาสู่จิตสำนึกมากขึ้น เช่นการสะกดจิต การทำจิตบำบัด หรือในกรณีที่คนไข้เป็นโรคประสาท
     * จิตสำนึก คือจิตปกติในชีวิตประจำวันที่ทำงานประสานกับประสาทสัมผัสทั้งห้า เป็นส่วนของการคิด การตัดสินใจ การมีอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตสำนึกจะมีบางส่วนถูกส่งต่อไปให้กับจิตกึ่งรู้สำนึกเพื่อให้ส่งไปเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก เช่นประสบการณ์ที่เลวร้าย ความฝังใจบางอย่าง ความขัดข้องใจในบางสิ่ง ความผิดหวังท้อแท้ เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้คนเราพยายามที่จะลืมมันให้หมด แต่จริงๆแล้วมันเพียงแค่ย้ายที่จากจิตรู้สำนึกไปสู่จิตไร้สำนึกเท่านั้น ปัญหาต่างๆในบุคคลเกิดจากสิ่งที่เก็บไว้ในจิตไร้สำนึกถูกส่งมารบกวนจิตสำนึก จนมากเกินกว่าจะควบคุมได้
          
            นอกจากนี้แล้วฟรอยด์ยังได้แบ่งจิตใจออกเป็นอีก 3 แบบ คือ
 Id .Ego และ Super Ego 
     *  Id เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตตั้งแต่แรกเกิด เป็นส่วนของสัญชาตญาณและแรงขับต่างๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมตอบสนองความต้องการ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจและลดความเครียดลง เช่นความหิว ความต้องการทางเพศ ซึ่งการแสดงออกอาจผ่านการสะท้อนของอวัยวะโดยตรง ส่วนการแสดงออกทางอ้อมคือการปลดปล่อยออกในลักษณะความปรารถนา Id นี้เปรียบเหมือนสัญชาตญาณดิบในสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีการพัฒนา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะทำงานในระดับของจิตไร้สำนึก
     *  Ego เป็นส่วนที่ได้รับการพัฒนามาจาก Id เมื่อทารกเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก บุคคลเริ่มรับรู้ว่าตนไม่สามารถทำอะไรตามความต้องการของแรงขับได้ทุกอย่าง เพราะโลกแห่งความเป็นจริงควบคุมเราอยู่
               หน้าที่หลักของ Ego คือ
   1.รับรู้ความรู้สึกที่เป็นจริงที่ได้รับจากโลกภายนอก ทดสอบและประเมินความรู้สึกเหล่านี้
   2.ปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงและขณะเดียวกันก็ต้องทำ ให้ตนเองมีความพึงพอใจด้วย
    3.เพื่อควบคุมและสร้างกฎเกณฑ์ให้กับแรงขับทางสัญชาตญาณ
   4.เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกคุกคาม
     *  Superego เป็นส่วนของค่านิยมทางสังคมที่เด็กได้รับโดยการอบรมจากพ่อแม่เพื่อให้ตระหนักรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ประกอบด้วย Conscience คือมโนธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งเกิดจากการถูกพ่อแม่ทำโทษ และ Ego-ideal เกิดจากการทำสิ่งที่ดีและถูกต้องแล้วได้รับคำชม รางวัลหรือการยอมรับ เป็นค่านิยมที่เรียนรู้โดยเด็ก ทั้ง Conscience และEgo-ideal จะมีความขัดแย้งกับ id โดยความขัดแย้งจะเกิดในระดับจิตไร้สำนึก
          ปัญหาของ Cl เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง id กับ ego หรือ id กับ super-ego และEgo กับ super-ego ถ้าความขัดแย้งส่งผลกระทบทำให้ ego อ่อนแอ เมื่อนั้น Cl ต้องได้รับการบำบัด
              3.พัฒนาการทางบุคลิกภาพ
              ฟรอยด์ได้ใช้โครงสร้างบุคลิกภาพมาอธิบายพัฒนาการของมนุษย์ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Psychosexual Development ซึ่งพัฒนาการต่างๆเกี่ยวข้องกับด้านชีวภาพและพลังทางเพศ หากมีการชะงักงันหรือถูกขัดขวางในพัฒนาการขั้นไหนก็ตาม จะเกิดปัญหาบุคลิกภาพขึ้นมาได้
     3.1 Oral stage
     เป็นพัฒนาการในช่วง 1 ปีแรกของอายุ ทารกได้รับความสุขทางปาก โดยการดื่มและกิน เด็กในวัยนี้ยังไม่รู้จักเหตุผลดังนั้นเขาจะทำตามแรงขับทางชีวภาพอย่างเดียวยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เมื่อได้รับการตอบสนองในเวลาหิว ความเครียดจะหายไป ความสุขความพึงพอใจจะเกิดขึ้น แต่ถ้าหิวแล้วไม่ได้กินเด็กจะรู้สึกคับข้องใจ ซึ่งจะส่งผลต่อบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น เช่นกลายเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น กินจุบกินจิบ
     3.2 Anal stage
     ในช่วงอายุ 2-3 ปี เด็กเริ่มเรียนรู้ถึงแรงกดดันในเรื่องขับถ่าย ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบาย เพราะถูกพ่อแม่ควบคุมในเรื่องนี้ ทำให้เด็กรู้สึกขัดแย้งกับพ่อแม่ ในวัยนี้ Ego เริ่มแยกตัวออกจาก Id และเด็กก็เริ่มรู้จักต่อต้านพ่อแม่ เช่นถ้าพ่อแม่เข้มงวดกับลูกมากเกินไป เด็กก็จะอั้นอุจจาระไม่ยอมถ่าย เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นบุคลิกภาพแบบ Anal retentive คือขี้เหนียวและดื้อดึง
     3.3 Phalic stage
     ในช่วงอายุ 3-5 ปี ในวัยนี้เด็กจะรู้จักความแตกต่างระหว่างเพศ และสนใจในอวัยวะสืบพันธุ์ เด็กชายจะใกล้ชิดแม่และห่างเหินจากพ่อ เกิดปม Oedipus ส่วนเด็กหญิงจะห่างเหินจากแม่และไปใกล้ชิดพ่อ เกิดปม Electra แนวความคิดดังกล่าวถูกโจมตีอย่างมากจากนักจิตวิทยาหลายคน เด็กชายที่มีความชะงักงันของพัฒนาการในช่วงนี้ จะกลายเป็นคนหลงตัวเอง ขี้อวด บางคนชอบมีเพศสัมพันธ์กับหญิงไม่เลือกหน้า ส่วนเด็กหญิงที่มีความชะงักงันของพัฒนาการในช่วงนี้ จะกลายเป็นคนที่ชอบเอาชนะผู้ชายตลอดเวลา
     3.4 Latency stage
     ในช่วงอายุ 5-6 ปี ความรู้สึกทางเพศจะถูกแทนทีด้วยความรู้สึกรักหรือเกลียด รู้จักใช้ความคิดมากขึ้น ยึดหลักแห่งความจริงมากขึ้น มักจะเข้ากลุ่มกับเพื่อนเพศเดียวกัน เด็กจะเลียนแบบค่านิยมของพ่อแม่มากขึ้น
     3.5 Genital Stage
     เป็นระยะการเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น เด็กเริ่มสนใจเพศตรงข้าม เรียนรู้เรื่องความรัก และเพศสัมพันธ์ เป็นช่วงการพัฒนาไปสู่ผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะเต็มที่ ในขั้นตอนนี้ถ้าพัฒนาการมีความราบรื่น พวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักรักตัวเองและผู้อื่น แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในช่วงนี้ เด็กอาจมีบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม เช่นมีความวิตกกังวลสูง มีความขัดแย้งในใจ ตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว พัฒนาการที่ติดขัดในแต่ละขั้นตอน จะทำให้เกิดความชะงักงัน ( Fixation ) ส่งผลต่อบุคลิกภาพบางอย่างของบุคคลได้
              4.แนวคิดในเรื่องกลไกการป้องกันตนเอง
              มนุษย์มีความทุกข์เพราะegoต้องคอยจัดการกับแรงขับของ id และการเรียกร้องของ super-ego
             ฟรอยด์เปรียบเทียบว่า ego เหมือนสนามรบที่ id กับ super-ego เข้ามาปะทะกัน ทำให้บุคคลเกิดความขัดแย้งและร้อนรนใจ บางครั้งเกิดความกลัว ความรู้สึกผิด ดังนั้น ego จึงต้องมีกลไกในการป้องกันตัว
     4.1 Repression (การเก็บกด) คือขจัดแรงกระตุ้นจากสัญชาตญาณไม่ให้ออกมาสู่จิตรู้สำนึก โดยเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก หรือการทำลายความทรงจำที่เกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายหรือเจ็บปวด โดยซ่อนไว้ในจิตไร้สำนึก
     4.2 Rationalization ( การหาข้ออ้าง ) คือการหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองอย่างไม่ถูกต้อง เช่นอยู่บ้านเช่าที่แออัด ไม่มีปัญญาหาที่อยู่ใหม่ ก็ปลอบใจตัวเองว่าอยู่ตรงนี้ไปไหนมาไหนสะดวกดี
     4.3 Displacement ( การหาสิ่งทดแทน ) ระบายความรู้สึกจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เช่น โกรธสามีแต่ไปด่าลูกแทน
     4.4 Conversion การเปลี่ยนแรงกระตุ้นทางด้านจิตใจไปสู่ความแปรปรวนทางกาย เช่น ถูกขัดใจก็เป็นลมหมดสติไป
     4.5 Reaction formation คือ การผันแรงขับที่ไม่ต้องการไปเป็นแบบตรงข้าม เช่น เกลียดแต่แกล้งทำเป็นว่ารัก
     4.6 Projection คือ การโยนความผิดให้ผู้อื่น ตรงกับสำนวนที่ว่ารำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
     4.7 Denial การปฏิเสธความจริง เช่น แม่พยายามหลอกตัวเองว่าลูกยังไม่ตายทั้งๆที่เขาตายไปแล้ว
     4.8 Sublimation การที่บุคคลเปลี่ยนพลังทางเพศหรือความก้าวร้าวไปสู่พฤติกรรมที่สังคมยอมรับ เช่น นักมวย .จิตรกรวาดภาพเปลือย
     4.9 Regression การถอยหลังเข้าคลอง เช่น ผู้ใหญ่ที่แสดงกิริยาอาการเหมือนเด็ก
     4.10 Compensation คือ การชดเชยส่วนที่ด้อยด้วยการสร้างจุดเด่นด้านอื่นแทน เช่น ขี้เหร่แต่พยายามตั้งใจเรียนจนได้เกียรตินิยม 

เป้าหมายทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์ 

         เป้าหมายที่สำคัญของการใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ไปให้คำปรึกษาแก่ Client มีดังต่อไปนี้
              1.ดึงแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึกมาสู่ระดับจิตสำนึก เป็นการทำให้ ego เข้มแข็งขึ้นทำให้ Client เข้าใจสาเหตุของพฤติกรรม นำไปสู่การปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ เช่นCl ระบายความโกรธมาสู่เราซึ่งเป็น Counselor โดยมีสาเหตุจากจิตใต้สำนึกเกลียดพ่อ และบังเอิญตัวเรามีอะไรบางอย่างเหมือนพ่อของเขา ถ้าเรารู้ความจริงเช่นนี้ ต้องดึงสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกของClออกมาให้เขารับรู้และเข้าใจ
              2.ลดความวิตกกังวลของ Client เพื่อใช้ระบบเหตุผลในการพิจารณาสิ่งต่างๆตามข้อเท็จจริง ลดการใช้กลไกป้องกันตัวเอง เช่นทุกครั้งที่พูดถึงแม่ Client จะมีท่าทางอึดอัด พูดตะกุกตะกักและไม่ยอมตอบคำถามใดๆเกี่ยวกับเรื่องแม่ แสดงว่าคนไข้ต้องมีความขัดแย้งกับแม่และใช้กลไกป้องกันตัวเอง เราต้องพูดให้คนไข้เข้าใจและยอมรับถึงปัญหาดังกล่าว แล้วมาพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่า ทำไม Client จึงไม่อยากพูดถึงแม่ เมื่อรู้ความจริงแล้ว เราจึงจะช่วยเหลือเขาได้
             3. ช่วยให้ Client สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น รับผิดชอบและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เมื่อเราสามรถชี้ให้ Client เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของเขา จนเขายอมรับแล้ว ต่อไปเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพราะเข้าใจปัญหาดีแล้ว 4.หลังจากที่ Client เข้าใจตัวเอง เข้าใจปัญหา ยอมรับและสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว Client จะมีสุขภาพจิตที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความสุข



ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรุนเนอร์

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของบรุนเนอร์

 



บรุนเนอร์ (Bruner) เป็นนักจิตวิทยาที่สนใจและศึกษาเรื่องของพัฒนาการทางสติปัญญาต่อเนื่องจาก เพียเจต์ บรุนเนอร์เชื่อว่ามนุษย์เลือกที่จะรับรู้สิ่งที่ตนเองสนใจและการเรียนรู้ เกิดจากกระบวนการค้นพบด้วยตัวเอง (discovery learning) แนวคิดที่สำคัญ ๆ ของ บรุนเนอร์ มีดังนี้

ทฤษฎีการเรียนรู้

1) การจัดโครงสร้างของความรู้ให้มีความสัมพันธ์ และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก
2) การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความพร้อมของผู้เรียน และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนจะช่วยให้การเรียนรู้เกิด ประสิทธิภาพ
3) การคิดแบบหยั่งรู้ (intuition) เป็นการคิดหาเหตุผลอย่างอิสระที่สามารถช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้
4) แรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้
5) ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 ขั้นใหญ่ ๆ คือ 
1.   ขั้นการเรียนรู้จากการกระทำ (Enactive Stage) คือ ขั้นของการเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งต่าง ๆ การลงมือกระทำช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ดี การเรียนรู้เกิดจากการกระทำ 
2.   ขั้นการเรียนรู้จากความคิด (Iconic Stage) เป็นขั้นที่เด็กสามารถสร้างมโนภาพในใจได้ และสามารถเรียนรู้จากภาพแทนของจริงได้ 
3.   ขั้นการเรียนรู้สัญลักษณ์และนามธรรม (Symbolic Stage) เป็นขั้นการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้           
  วัยอนุบาล  จะอยู่ในระดับการกระทำ   ซึ่งการเรียนรู้ต่าง  ๆอยุ่ในลักษณะของการกระทำ  โดยผ่านประสบการณ์ที่ได้พบเห็นและการรับรู้ต่าง  ๆ  เด็กวัยนี้ไม่สามารถรอคอยได้นาน  ๆ  เราควรสนองความพึงพอใจให้กับเด็กอย่างทันทีที่ทำงานแต่ละครั้งเสร็จ  ควรให้มีบรรยากาศของความสนุกสนานผ่อนปรนไม่ตึงเคียดและควรเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความสามารถต่าง  ๆ  เพื่อก่อให้เกิดความมั่นใจ
  วัยเด็กประถมต้น วัยนี้สามารถสร้างภาพในใจได้  และยังต้องการสนองตอบความพึงพอใจอย่างทันท่วงที่ภายหลังที่ทำเสร็จและบรรยากาศที่ผ่อนปรน
  วัยเด็กประถมปลาย  เป็นวัยที่สร้างภาพในใจ   การพัฒนาการทางสติปัญญา  จะแสดงให้เห็นจาการที่เด็กสามารถเลือกจากตัวเลือกหลาย ๆ ตัวในเวลาเดียวกัน  และสามารถแบ่งเวลาและความสนใจได้อย่างเหมาะสมกับตัวเลือกนั้น
  สำหรับวัยรุ่น  จะอยู่ในขั้นที่  3  ของบรูเนอร์  ขั้นนี้จะกล่าวถึง  การถ่ายทอดประสบการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆ  โดยใช้สัญลักษณ์หรือภาษา  ซึ่งภาษาเป็นสิ่งที่แสดงถึงความคิดความมีเหตุผลอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมได้  ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาต่างๆ  อย่างมีระบบ  มนุษย์จะพัฒนาความรู้ความเข้าใจ  จากทั้ง  ลักษณะ  ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องไปตลอดชีวิต  มิใช่เกิดขึ้นเพียงช่วงใดช่วงหนึ่งในระยะแรก ๆ ของชีวิตเท่านั้น                                                                               6) การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการที่คนเราสามารถสร้างความคิดรวบยอด หรือสามารถจัดประเภทของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
7) การเรียนรู้ที่ได้ผลดีที่สุด คือ การให้ผู้เรียนค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (discovery learning)

การนำไปใช้ในการจัดการศึกษา / การสอน
         *   กระบวนการค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีมีความหมายสำหรับผู้เรียน
               *   การวิเคราะห์และจัดโครงสร้างเนื้อหาสาระการเรียนรู้ให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องทำก่อนการสอน
               *   การจัดหลักสูตรแบบเกลียว (Spiral Curriculum) ช่วยให้สามารถสอนเนื้อหาหรือความคิดรวบยอดเดียวกันแก่ผู้เรียนทุกวัยได้โดยต้องจัดเนื้อหาความคิดรวบยอดและวิธีสอนให้เหมาะสมกับขั้นพัฒนาการของผู้เรียน
               *   ในการเรียนการสอนควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิดอย่างอิสระให้มากเพื่อช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน
               *   การสร้างแรงจูงใจภายในให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน เป็นสิ่งจำเป็นในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แก่ผู้เรียน
               *   การจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับขั้นพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียน จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี
               *   การสอนความคิดรวบยอดให้แก่ผู้เรียนเป็นสิ่งจำเป็น
               *   การจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้ค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ครูสามารถจัดการสอนเนื้อหาวิชาใด ๆ  ให้กับเด็กในช่วงใดของชีวิตก็ได้  ถ้ารู้จักเลือกวิธีการที่เหมาะสม  สำหรับวัยรุ่น  วัยนี้สามารถคิดอย่างมีเหตุผล  แต่อาจจะมิใช่เหตุผลดังที่ผู้ใหญ่คิดดังนั้น  ครูอาจทราบเหตุผลของเด็กได้โดยการกระตุ้นให้มีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ  และการเขียนรายงานโดยไม่มีคะแนน