วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์

ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ 
 
             ปัญหาของ Cl เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง id กับ ego หรือ id กับ super-ego และEgo กับ super-ego ถ้าความขัดแย้งส่งผลกระทบทำให้ ego อ่อนแอ เมื่อนั้น Cl ต้องได้รับการบำบัดและพัฒนาการที่ติดขัดในแต่ละขั้นตอน จะทำให้เกิดความชะงักงัน ( Fixation ) ส่งผลต่อบุคลิกภาพบางอย่างของบุคคลได้
            หลักการของทฤษฎี 

             1.ทฤษฎีบุคลิกภาพ
             ฟรอยด์กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์มีสาระสำคัญดังนี้
     * บุคลิกภาพของบุคคลเกิดจากแรงกระตุ้นของสัญชาตญาณทางด้านชีววิทยา เช่น ความหิว ความกลัวตาย
     * แรงกระตุ้นต่างๆจะนำไปสู่การลดความเครียดทางด้านร่างกาย บางครั้งจะขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมและขอบเขตของศีลธรรมเช่นความต้องการทางเพศ
     * ความเจริญเติบโตทางด้านจิตใจเกิดจากการที่บุคคลสามารถจัดการกับแรงกระตุ้นต่างๆได้เหมาะสมหรือไม่
     * ความเจริญเติบโตทางด้านจิตใจต้องผ่านไปตามลำดับขั้นของพัฒนาการตั้งแต่วัยเด็ก
     * พฤติกรรมของมนุษย์ถูกกำหนดขึ้นมาจากจิตไร้สำนึกและจิตสำนึก ทุกพฤติกรรมเกิดเพราะมีสาเหตุทั้งสิ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างอิสระเสรี
 *ระหว่างจิตไร้สำนึกและจิตสำนึกนั้น จิตไร้สำนึกจะมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมมากกว่าจิตสำนึก
     * ทฤษฎีของฟรอยด์โดดเด่นในแง่ของจิตไร้สำนึกมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจยากในหลายๆกรณี ฟรอยด์กล่าวว่าปัญหาความขัดแย้งของบุคคลเกิดจากจิตไร้สำนึกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและความรู้สึกของคนไข้ ความขัดแย้งเหล่านี้ไม่เหมือนกับความขัดแย้งในระดับจิตสำนึก เพราะแก้ไขได้ยาก เนื่องจากมีรากฐานมาจากประสบการณ์ในวัยเด็ก และจากแรงขับ ความปรารถนา ความรู้สึกต่างๆที่ขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริง หรือมโนธรรม ซึ่งถ้าความปรารถนาเหล่านี้ไม่เป็นที่ยอมรับในระดับจิตสำนึก จะทำให้เกิดความวิตกกังวล ความรู้สึกผิด ทำให้เกิดการใช้กลไกป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism )
              2.โครงสร้างบุคลิกภาพ
              ฟรอยด์ได้แบ่งจิตใจมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับ คือ
จิตไร้สำนึก( Unconscious ) จิตกึ่งรู้สำนึก ( Preconscious ) และจิตรู้สำนึก ( Conscious ) โดยจิตรู้สำนึกเปรียบเหมือนก้อนน้ำแข็งที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำ มองเห็นได้ สัมผัสได้ เข้าใจง่าย จิตไร้สำนึกเปรียบเหมือนส่วนของน้ำแข็งที่อยู่ใต้น้ำ มองไม่เห็น เข้าใจยาก แต่มีอิทธิพลต่อมนุษย์มากที่สุด ส่วนจิตกึ่งรู้สำนึกจะอยู่ระหว่างกึ่งกลางของจิตสองส่วนนี้
     * จิตไร้สำนึก เป็นที่เก็บความคิดและความรู้สึกที่ถูกเก็บกดทั้งหลาย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้บางครั้งถูกส่งออกมายังจิตสำนึก โดยต้องผ่านการตรวจสอบของจิตกึ่งรู้สำนึกก่อน จิตไร้สำนึกจะเป็นส่วนของสัญชาตญาณทั้งหลาย ความพึงพอใจ ความปรารถนาต่างๆ โดยมันไม่สนใจเรื่องของเวลา เหตุผลหรือความขัดแย้ง ฟรอยด์บอกว่าถ้าความปรารถนาในจิตใต้สำนึกไม่บรรลุผล จะทำให้เกิดการฝันหรืออาการทางโรคประสาทได้
     * จิตกึ่งรู้สำนึก เป็นส่วนที่คอยทำงานเชื่อมประสานระหว่างจิตไร้สำนึกและจิตรู้สำนึก มันทำหน้าที่ในการตรวจสอบสิ่งที่จิตไร้สำนึกส่งมาให้กับจิตสำนึก และมันยังทำหน้าที่คอยเก็บกดความปรารถนาและความต้องการที่ไม่อาจแสดงออกมาได้ลงไปไว้ในจิตไร้สำนึก หากเราทำการกระตุ้นจิตกึ่งรู้สำนึก จะทำให้สิ่งต่างๆในจิตไร้สำนึกออกมาสู่จิตสำนึกมากขึ้น เช่นการสะกดจิต การทำจิตบำบัด หรือในกรณีที่คนไข้เป็นโรคประสาท
     * จิตสำนึก คือจิตปกติในชีวิตประจำวันที่ทำงานประสานกับประสาทสัมผัสทั้งห้า เป็นส่วนของการคิด การตัดสินใจ การมีอารมณ์ ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นในจิตสำนึกจะมีบางส่วนถูกส่งต่อไปให้กับจิตกึ่งรู้สำนึกเพื่อให้ส่งไปเก็บไว้ในจิตไร้สำนึก เช่นประสบการณ์ที่เลวร้าย ความฝังใจบางอย่าง ความขัดข้องใจในบางสิ่ง ความผิดหวังท้อแท้ เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้คนเราพยายามที่จะลืมมันให้หมด แต่จริงๆแล้วมันเพียงแค่ย้ายที่จากจิตรู้สำนึกไปสู่จิตไร้สำนึกเท่านั้น ปัญหาต่างๆในบุคคลเกิดจากสิ่งที่เก็บไว้ในจิตไร้สำนึกถูกส่งมารบกวนจิตสำนึก จนมากเกินกว่าจะควบคุมได้
          
            นอกจากนี้แล้วฟรอยด์ยังได้แบ่งจิตใจออกเป็นอีก 3 แบบ คือ
 Id .Ego และ Super Ego 
     *  Id เกิดขึ้นมาพร้อมกับชีวิตตั้งแต่แรกเกิด เป็นส่วนของสัญชาตญาณและแรงขับต่างๆ ซึ่งจะกระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมตอบสนองความต้องการ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจและลดความเครียดลง เช่นความหิว ความต้องการทางเพศ ซึ่งการแสดงออกอาจผ่านการสะท้อนของอวัยวะโดยตรง ส่วนการแสดงออกทางอ้อมคือการปลดปล่อยออกในลักษณะความปรารถนา Id นี้เปรียบเหมือนสัญชาตญาณดิบในสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีการพัฒนา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มันจะทำงานในระดับของจิตไร้สำนึก
     *  Ego เป็นส่วนที่ได้รับการพัฒนามาจาก Id เมื่อทารกเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก บุคคลเริ่มรับรู้ว่าตนไม่สามารถทำอะไรตามความต้องการของแรงขับได้ทุกอย่าง เพราะโลกแห่งความเป็นจริงควบคุมเราอยู่
               หน้าที่หลักของ Ego คือ
   1.รับรู้ความรู้สึกที่เป็นจริงที่ได้รับจากโลกภายนอก ทดสอบและประเมินความรู้สึกเหล่านี้
   2.ปรับตัวให้เข้ากับสภาพความเป็นจริงและขณะเดียวกันก็ต้องทำ ให้ตนเองมีความพึงพอใจด้วย
    3.เพื่อควบคุมและสร้างกฎเกณฑ์ให้กับแรงขับทางสัญชาตญาณ
   4.เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกคุกคาม
     *  Superego เป็นส่วนของค่านิยมทางสังคมที่เด็กได้รับโดยการอบรมจากพ่อแม่เพื่อให้ตระหนักรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ประกอบด้วย Conscience คือมโนธรรม ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งเกิดจากการถูกพ่อแม่ทำโทษ และ Ego-ideal เกิดจากการทำสิ่งที่ดีและถูกต้องแล้วได้รับคำชม รางวัลหรือการยอมรับ เป็นค่านิยมที่เรียนรู้โดยเด็ก ทั้ง Conscience และEgo-ideal จะมีความขัดแย้งกับ id โดยความขัดแย้งจะเกิดในระดับจิตไร้สำนึก
          ปัญหาของ Cl เกิดจากความขัดแย้งระหว่าง id กับ ego หรือ id กับ super-ego และEgo กับ super-ego ถ้าความขัดแย้งส่งผลกระทบทำให้ ego อ่อนแอ เมื่อนั้น Cl ต้องได้รับการบำบัด
              3.พัฒนาการทางบุคลิกภาพ
              ฟรอยด์ได้ใช้โครงสร้างบุคลิกภาพมาอธิบายพัฒนาการของมนุษย์ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Psychosexual Development ซึ่งพัฒนาการต่างๆเกี่ยวข้องกับด้านชีวภาพและพลังทางเพศ หากมีการชะงักงันหรือถูกขัดขวางในพัฒนาการขั้นไหนก็ตาม จะเกิดปัญหาบุคลิกภาพขึ้นมาได้
     3.1 Oral stage
     เป็นพัฒนาการในช่วง 1 ปีแรกของอายุ ทารกได้รับความสุขทางปาก โดยการดื่มและกิน เด็กในวัยนี้ยังไม่รู้จักเหตุผลดังนั้นเขาจะทำตามแรงขับทางชีวภาพอย่างเดียวยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เมื่อได้รับการตอบสนองในเวลาหิว ความเครียดจะหายไป ความสุขความพึงพอใจจะเกิดขึ้น แต่ถ้าหิวแล้วไม่ได้กินเด็กจะรู้สึกคับข้องใจ ซึ่งจะส่งผลต่อบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น เช่นกลายเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น กินจุบกินจิบ
     3.2 Anal stage
     ในช่วงอายุ 2-3 ปี เด็กเริ่มเรียนรู้ถึงแรงกดดันในเรื่องขับถ่าย ซึ่งทำให้รู้สึกไม่สบาย เพราะถูกพ่อแม่ควบคุมในเรื่องนี้ ทำให้เด็กรู้สึกขัดแย้งกับพ่อแม่ ในวัยนี้ Ego เริ่มแยกตัวออกจาก Id และเด็กก็เริ่มรู้จักต่อต้านพ่อแม่ เช่นถ้าพ่อแม่เข้มงวดกับลูกมากเกินไป เด็กก็จะอั้นอุจจาระไม่ยอมถ่าย เมื่อโตขึ้นจะกลายเป็นบุคลิกภาพแบบ Anal retentive คือขี้เหนียวและดื้อดึง
     3.3 Phalic stage
     ในช่วงอายุ 3-5 ปี ในวัยนี้เด็กจะรู้จักความแตกต่างระหว่างเพศ และสนใจในอวัยวะสืบพันธุ์ เด็กชายจะใกล้ชิดแม่และห่างเหินจากพ่อ เกิดปม Oedipus ส่วนเด็กหญิงจะห่างเหินจากแม่และไปใกล้ชิดพ่อ เกิดปม Electra แนวความคิดดังกล่าวถูกโจมตีอย่างมากจากนักจิตวิทยาหลายคน เด็กชายที่มีความชะงักงันของพัฒนาการในช่วงนี้ จะกลายเป็นคนหลงตัวเอง ขี้อวด บางคนชอบมีเพศสัมพันธ์กับหญิงไม่เลือกหน้า ส่วนเด็กหญิงที่มีความชะงักงันของพัฒนาการในช่วงนี้ จะกลายเป็นคนที่ชอบเอาชนะผู้ชายตลอดเวลา
     3.4 Latency stage
     ในช่วงอายุ 5-6 ปี ความรู้สึกทางเพศจะถูกแทนทีด้วยความรู้สึกรักหรือเกลียด รู้จักใช้ความคิดมากขึ้น ยึดหลักแห่งความจริงมากขึ้น มักจะเข้ากลุ่มกับเพื่อนเพศเดียวกัน เด็กจะเลียนแบบค่านิยมของพ่อแม่มากขึ้น
     3.5 Genital Stage
     เป็นระยะการเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น เด็กเริ่มสนใจเพศตรงข้าม เรียนรู้เรื่องความรัก และเพศสัมพันธ์ เป็นช่วงการพัฒนาไปสู่ผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะเต็มที่ ในขั้นตอนนี้ถ้าพัฒนาการมีความราบรื่น พวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักรักตัวเองและผู้อื่น แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในช่วงนี้ เด็กอาจมีบุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสม เช่นมีความวิตกกังวลสูง มีความขัดแย้งในใจ ตื่นตระหนกหรือหวาดกลัว พัฒนาการที่ติดขัดในแต่ละขั้นตอน จะทำให้เกิดความชะงักงัน ( Fixation ) ส่งผลต่อบุคลิกภาพบางอย่างของบุคคลได้
              4.แนวคิดในเรื่องกลไกการป้องกันตนเอง
              มนุษย์มีความทุกข์เพราะegoต้องคอยจัดการกับแรงขับของ id และการเรียกร้องของ super-ego
             ฟรอยด์เปรียบเทียบว่า ego เหมือนสนามรบที่ id กับ super-ego เข้ามาปะทะกัน ทำให้บุคคลเกิดความขัดแย้งและร้อนรนใจ บางครั้งเกิดความกลัว ความรู้สึกผิด ดังนั้น ego จึงต้องมีกลไกในการป้องกันตัว
     4.1 Repression (การเก็บกด) คือขจัดแรงกระตุ้นจากสัญชาตญาณไม่ให้ออกมาสู่จิตรู้สำนึก โดยเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึก หรือการทำลายความทรงจำที่เกี่ยวกับประสบการณ์เลวร้ายหรือเจ็บปวด โดยซ่อนไว้ในจิตไร้สำนึก
     4.2 Rationalization ( การหาข้ออ้าง ) คือการหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองอย่างไม่ถูกต้อง เช่นอยู่บ้านเช่าที่แออัด ไม่มีปัญญาหาที่อยู่ใหม่ ก็ปลอบใจตัวเองว่าอยู่ตรงนี้ไปไหนมาไหนสะดวกดี
     4.3 Displacement ( การหาสิ่งทดแทน ) ระบายความรู้สึกจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง เช่น โกรธสามีแต่ไปด่าลูกแทน
     4.4 Conversion การเปลี่ยนแรงกระตุ้นทางด้านจิตใจไปสู่ความแปรปรวนทางกาย เช่น ถูกขัดใจก็เป็นลมหมดสติไป
     4.5 Reaction formation คือ การผันแรงขับที่ไม่ต้องการไปเป็นแบบตรงข้าม เช่น เกลียดแต่แกล้งทำเป็นว่ารัก
     4.6 Projection คือ การโยนความผิดให้ผู้อื่น ตรงกับสำนวนที่ว่ารำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง
     4.7 Denial การปฏิเสธความจริง เช่น แม่พยายามหลอกตัวเองว่าลูกยังไม่ตายทั้งๆที่เขาตายไปแล้ว
     4.8 Sublimation การที่บุคคลเปลี่ยนพลังทางเพศหรือความก้าวร้าวไปสู่พฤติกรรมที่สังคมยอมรับ เช่น นักมวย .จิตรกรวาดภาพเปลือย
     4.9 Regression การถอยหลังเข้าคลอง เช่น ผู้ใหญ่ที่แสดงกิริยาอาการเหมือนเด็ก
     4.10 Compensation คือ การชดเชยส่วนที่ด้อยด้วยการสร้างจุดเด่นด้านอื่นแทน เช่น ขี้เหร่แต่พยายามตั้งใจเรียนจนได้เกียรตินิยม 

เป้าหมายทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบจิตวิเคราะห์ 

         เป้าหมายที่สำคัญของการใช้ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ไปให้คำปรึกษาแก่ Client มีดังต่อไปนี้
              1.ดึงแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึกมาสู่ระดับจิตสำนึก เป็นการทำให้ ego เข้มแข็งขึ้นทำให้ Client เข้าใจสาเหตุของพฤติกรรม นำไปสู่การปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพ เช่นCl ระบายความโกรธมาสู่เราซึ่งเป็น Counselor โดยมีสาเหตุจากจิตใต้สำนึกเกลียดพ่อ และบังเอิญตัวเรามีอะไรบางอย่างเหมือนพ่อของเขา ถ้าเรารู้ความจริงเช่นนี้ ต้องดึงสิ่งที่อยู่ในจิตไร้สำนึกของClออกมาให้เขารับรู้และเข้าใจ
              2.ลดความวิตกกังวลของ Client เพื่อใช้ระบบเหตุผลในการพิจารณาสิ่งต่างๆตามข้อเท็จจริง ลดการใช้กลไกป้องกันตัวเอง เช่นทุกครั้งที่พูดถึงแม่ Client จะมีท่าทางอึดอัด พูดตะกุกตะกักและไม่ยอมตอบคำถามใดๆเกี่ยวกับเรื่องแม่ แสดงว่าคนไข้ต้องมีความขัดแย้งกับแม่และใช้กลไกป้องกันตัวเอง เราต้องพูดให้คนไข้เข้าใจและยอมรับถึงปัญหาดังกล่าว แล้วมาพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่า ทำไม Client จึงไม่อยากพูดถึงแม่ เมื่อรู้ความจริงแล้ว เราจึงจะช่วยเหลือเขาได้
             3. ช่วยให้ Client สามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น รับผิดชอบและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เมื่อเราสามรถชี้ให้ Client เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของเขา จนเขายอมรับแล้ว ต่อไปเขาจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพราะเข้าใจปัญหาดีแล้ว 4.หลังจากที่ Client เข้าใจตัวเอง เข้าใจปัญหา ยอมรับและสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว Client จะมีสุขภาพจิตที่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ดี มีความสุข



1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

อยากให้พูดถึงว่านำทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์เข้าในการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง

แสดงความคิดเห็น